
ไทรทัน
ไทรทัน (อังกฤษ: Triton) เป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน เป็นสถานที่เพียงหนึ่งในสี่แห่งในระบบสุริยะ ที่มีก๊าซไนโตรเจนในบรรยากาศ นอกเหนือจากโลก ,ดาวบริวารไททัน (Titan Moon) ของดาวเสาร์ และ ดาวพลูโต
ไทรทันมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,707 ก.ม. มีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -235 องศาเซลเซียส (35 เคลวิน) สภาพภูมิประเทศเป็นหุบเหวและร่องลึกมากมาย เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำทำให้เกิดน้ำแข็ง และน้ำแข็งละลายกลับไปกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนั้นยังมีภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcanos) ที่พ่นน้ำพุแรงดันสูง ประกอบด้วยไนโตรเจนเหลว มีเทนแข็ง และฝุ่นที่เย็นจัดขึ้นไปกว่า 8 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวของดาวบริวาร
ลักษณะพื้นผิวดาวบริวารจะแวววาวจากหินแข็ง โดยมีส่วนผสมด้วยละอองอนุภาคสีดำขนาดเล็ก ถูกหุ้มด้วยผลึกน้ำแข็ง (เกิดจาก Ice carbonaceous) มีส่วนประกอบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และก๊าซมีเทน ฟุ้งกระจายเป็นหมอกบางๆ เหนือพื้น โดยมีน้ำแข็งทั้งหมดประมาณ 25%
ไทรทันเป็นวัตถุแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object) มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณขอบของระบบสุริยะ เลยวงโคจรของดาวพลูโต ออกไปและถูกดาวเนปจูนดูดจับเข้ามาเป็นบริวาร รูปทรงสัณฐานของไทรทันที่สังเกตเห็น จะมีแนวเฉดฟ้าอ่อนจาก Nitrogen ice เช่นเดียวกับไอของน้ำแข็งแห้ง
ไททัน (อังกฤษ: Titan) คือ ดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีระยะห่างจากดาวเสาร์เป็นลำดับที่ 20 เป็นดาวบริวารดวงเดียวที่เป็นที่ทราบกันว่ามีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเป็นวัตถุเพียงชนิดเดียวนอกจากโลกที่มีการค้นพบว่ามีร่องรอยของน้ำอยู่บนดาว ไททันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดาวบริวารของโลกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และมีมวลมากกว่าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ รองจากดาวบริวารแกนีมีดของดาวพฤหัสบดี และมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดซึ่งคือ ดาวพุธ (ถึงแม้ว่าจะมีมวลน้อยกว่าเพียงครึ่งเดียวก็ตาม)
ผู้คนได้รู้ว่าไททันเป็นดาวบริวารดวงแรกของดาวเสาร์ หลังจากที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2198 (ค.ศ. 1655) โดยคริสตียาน เฮยเคินส์ (Christiaan Huygens) นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์
ไททันประกอบด้วยน้ำ น้ำแข็ง และหินเป็นหลัก ด้วยความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศของไททัน ทำให้เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพื้นผิวของมันมากนัก จนกระทั่งยานอวกาศ “กัสซีนี-เฮยเคินส์” (Cassini–Huygens) ได้เดินทางไปถึงในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) รวมถึงการค้นพบทะเลสาบไฮโดรคาร์บอนเหลว บริเวณขั้วของดาวโดยดาวเทียม ลักษณะของพื้นผิวนั้น ทางธรณีวิทยาถือว่ายังค่อนข้างใหม่ ถึงแม้ว่าจะประกอบด้วยภูเขาและภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcano) ก็ตาม
ชั้นบรรยากาศของไททันประกอบด้วยไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ สภาพอากาศจะมีเมฆมีเทนและอีเทน ลมและฝน ซึ่งทำให้เกิดสภาพพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายกับโลกของเรา เช่น ทะเลทราย และแนวชายฝั่ง
ดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของโลกในระบบสุริยะ หลายดวงมีดวงจันทร์บริวารกันอู้ฟู่ อย่างดาวเสาร์ก็มีดวงจันทร์บริวารถึง 82 ดวง ขนาดแตกต่างกันไปโดยดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ “ไททัน” (Titan) ถูกปกคลุมด้วยชั้นบรรยากาศหนาแน่น มีร่องรอยของแหล่งน้ำและทะเลไฮโดรคาร์บอนเหลวอย่างมีเทนและอีเทน ใต้เปลือกน้ำแข็งหนาอาจเป็นมหาสมุทรมีน้ำเป็นของเหลวและอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้
ล่าสุด จากการวัดและคำนวณมานับสิบปี นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียหรือแคลเทค ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า วงโคจรของไททันรอบๆดาวเสาร์นั้นกำลังขยายตัวและเริ่มถอยห่างจากดาวเสาร์ ซึ่งการทำความเข้าใจพื้นฐานการย้ายออกของวงโคจรไททัน ก็เปรียบเหมือนดวงจันทร์บริวารของโลกที่ออกแรงดึงความโน้มถ่วงเล็กๆ บนโลกในขณะที่มันโคจร ที่ทำให้เกิดกระแสน้ำขึ้นน้ำลง
และพบว่าดวงจันทร์ค่อยๆ เคลื่อนห่างจากโลกในอัตราประมาณ 3.8 เซนติเมตรต่อปี ไททันเองก็ใช้แรงดึงคล้ายกันนี้กับดาวเสาร์ และเคยมีการทำนายว่าไททันน่าจะถอยห่างจากดาวเสาร์ออกไปในอัตรา 0.1 เซนติเมตรต่อปี
แต่ผลการวิจัยครั้งใหม่นั้นขัดแย้งกับการทำนายดังกล่าว เนื่องจากพบว่าไททันถอยห่างจากดาวเสาร์ในอัตราที่เร็วกว่าที่คาดไว้ประมาณ 100 เท่า ชี้ให้เห็นว่าไททันก่อเกิดใกล้กับดาวเสาร์มากและถอยออกไปสู่ระยะทาง 1,200,000 กิโลเมตรในปัจจุบัน เมื่อมากกว่า 4,500 ล้านปีที่ผ่านมา.

