
สุริยวิถี
สุริยวิถี (อังกฤษ: Ecliptic) คือ ระนาบทางเรขาคณิตที่เป็นระนาบวงโคจรของโลก ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ในระบบสุริยะมีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับระนาบนี้ เมื่อมองจากโลก สุริยวิถีเป็นวงกลมใหญ่บนทรงกลมฟ้าที่แทนเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปีท่ามกลางดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง ระนาบนี้ทำมุมเอียงกับเส้นศูนย์สูตรฟ้าเป็นมุมประมาณ 23.5° ซึ่งเป็นผลจากความเอียงของแกนหมุนของโลก ระนาบวงโคจรของดวงจันทร์เอียงกับระนาบสุริยวิถีเป็นมุมประมาณ 5°
เนื่องจากดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนที่ไปตามสุริยวิถีเป็นมุม 360 องศา ในระยะเวลาประมาณ 365.25 วัน หรือ 1 ปี ดวงอาทิตย์จึงเคลื่อนที่ไปด้วยอัตราประมาณ 1° ต่อวัน โดยมีทิศทางจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ตรงข้ามกับการหมุนของทรงกลมฟ้า
สุริยวิถีกับเส้นศูนย์สูตรฟ้าตัดกันที่จุด 2 จุด ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน คือ จุดวสันตวิษุวัตและจุดศารทวิษุวัต เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมาถึง 2 ตำแหน่งนี้ กลางวันกับกลางคืนจะยาวนานเท่ากันสำหรับผู้สังเกตบนผิวโลก (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี เพราะมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความยาวนานของกลางวัน-กลางคืน เช่น บรรยากาศโลก)
จุดที่สุริยวิถีอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้ามากที่สุดขึ้นไปทางเหนือ เรียกว่า จุดครีษมายัน และลงไปทางใต้เรียกว่า จุดเหมายัน หากดวงจันทร์ผ่านแนวสุริยวิถีขณะจันทร์เพ็ญหรือจันทร์ดับ จะมีโอกาสเกิดอุปราคาขึ้นได้
แกนของโลกเอียง 23.5° ขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ระนาบวงโคจรของโลก (สุริยวิถี) ทำมุมกับ ระนาบของเส้นศูนย์สูตรฟ้าเป็นมุม 23.5° ดังแสดงในภาพที่ 2 เราเรียกจุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า “อีควินอกซ์” (Equinox) โดยจะมีอยู่ด้วยกันสองจุด คือ “วสันตวิษุวัต” หรือ อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ผลิ (Vernal equinox)” ประมาณวันที่ 20 – 21 มีนาคม และ “ศารทวิษุวัติ” หรือ อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ร่วง (Autumnal equinox)” ประมาณวันที่ 22 – 23 กันยายนของทุกปี เราเรียกตำแหน่งที่เส้นสุริยวิถีอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปทางขั้วฟ้าเหนือมากที่สุดว่า “ครีษมายัน” หรือ โซลสทิสฤดูร้อน (Summer solstice) ประมาณวันที่ 20 – 21 มิถุนายน และเราเรียก ตำแหน่งที่เส้นสุริยวิถีอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้า ไปทางขั้วฟ้าใต้มากที่สุด เรียกว่า “เหมายัน” หรือ โซลสทิสฤดูหนาว (Winter solstice) ประมาณวันที่ 20 – 21 ธันวาคม
เมื่อมองดูจากประเทศไทย ซึ่งอยู่บนซีกโลกเหนือ เราจะมองเห็นเส้นทางขึ้น–ตก ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ในลักษณะเดียวกับภาพที่ 3 ดังนี้
วสันตวิษุวัต (อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ผลิ) ประมาณวันที่ 20 – 21 มีนาคม ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน พอย่างเข้าฤดูหนาว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปอยู่ในซีกฟ้าเหนือมากขึ้นใต้แต่ละวัน
ครีษมายัน (โซลสทิสฤดูร้อน) ประมาณวันที่ 20 – 21 มิถุนายน ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือมากที่สุด ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้า ทำให้ซีกโลกเหนือกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปทางเส้นศูนย์สูตรฟ้า
ศารทวิษุวัต (อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ร่วง) ประมาณวันที่ 22 – 23 กันยายน ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีอีกครั้ง กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน พอย่างเข้าฤดูหนาว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปอยู่ในซีกฟ้าใต้มากขึ้นในแต่ละวัน
เหมายัน (โซลสทิสฤดูหนาว) ประมาณวันที่ 20 – 21 ธันวาคม ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศใต้มากที่สุด ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว ทำให้ซีกโลกเหนือกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่กลับมายังเส้นศูนย์สูตรฟ้าอีกครั้ง
สุริยวิถี (Ecliptic) คืออะไร อยู่ที่ไหน มีประโยชน์กับเราหรือไม่ อย่างไร หากเรานึกย้อนไปถึงเรื่อง กลุ่มดาวจักรราศี เราคงจำได้ว่า กลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 กลุ่มนั้นอยู่บนสุริยวิถี
สุริยวิถีเป็นเส้นสมมุติบนทรงกลมฟ้าที่แสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปี เส้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
จากที่เราได้ทราบมาแล้วว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่กับที่ แต่โลกที่เราอาศัยอยู่ต่างหากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เปรียบเหมือนเป็นจุดศูนย์กลางที่มีรัศมีเท่ากับระยะระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เมื่อโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ โลกจะกวาดพื้นที่ไปเรื่อยๆ เกิดเป็นระนาบ 1 ระนาบ คือ ระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ดังภาพ
ขณะที่เราอยู่บนโลกแล้วมองผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ออกไป (ในความเป็นจริงห้ามมองดวงอาทิตย์เด็ดขาด เพราะเป็นอันตรายต่อตา) จะเสมือนว่าดวงอาทิตย์นั้นอยู่บนทรงกลมฟ้า และเมื่อโลกโคจรไปและคนบนโลกยังคงมองผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ทุกๆ วัน จะพบว่าดวงอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่งไปทุกวันบนทรงกลมฟ้า ดังนั้น หากให้โลกเป็นศูนย์กลางโดยมีรัศมีเท่ากับระยะทางจากโลกไปยังตำแหน่งดวงอาทิตย์บนทรงกลมฟ้า และขณะที่โลกโคจรไปก็จะเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนทรงกลมฟ้า ดวงอาทิตย์จะกวาดพื้นที่ไปเรื่อยๆ เกิดเป็นระนาบอีกระนาบหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ โดยมีโลกเป็นจุดศูนย์กลาง ดังภาพ
จากภาพจะพบว่า มีระนาบอยู่ 2 ระนาบ แท้จริงแล้ว ทั้ง 2 ระนาบคือระนาบเดียวกัน โดยสามารถพิสูจน์ได้จากการที่เรายืดระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ออกไปถึงทรงกลมฟ้าจะเห็นว่าคือระนาบเดียวกับระนาบการเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปีนั่นเอง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์คือระนาบเดียวกับระนาบสุริยวิถี
ท่านทราบหรือไม่ว่า เส้นสุริยวิถีอยู่ที่ใดบนท้องฟ้า เราจะทราบแนวของเส้นสุริยวิถีได้โดยอ้างอิงกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า เพราะระนาบสุริยวิถีทำมุม 23.5° กับระนาบศูนย์สูตรฟ้า ทั้งนี้เนื่องจากแกนโลกเอียงจากเส้นตั้งกับระนาบวงโคจรของโลกหรือระนาบสุริยวิถีเป็นมุม 23.5° นั่นเอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เส้นสุริยวิถีจึงมีทั้งส่วนที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรฟ้าและส่วนที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรฟ้า และการที่จะหาเส้นศูนย์สูตรฟ้านั้น ให้สังเกตจากกลุ่มดาวจักรราศี เพราะกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 กลุ่มจะอยู่บนเส้นสุริยวิถี ทั้งนี้จะมี 6 กลุ่มที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรฟ้า คือ กลุ่มดาวมีน เมษ พฤษภ มิถุน กรกฎ และสิงห์ และอีก 6 กลุ่มที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรฟ้า คือ กลุ่มดาวกันย์ ตุล พฤศจิก ธนู มกร และกุมภ์ ดังนั้น ถ้าต้องการหาตำแหน่งเส้นสุริยวิถี ก็หาได้จากตำแหน่งของกลุ่มดาวจักรราศีนั่นเอง

