
ดาวบริวารของดาวอังคาร
ดาวอังคารมีดาวบริวารค่อนข้างเล็กสองดวง ได้แก่ โฟบอส (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 กิโลเมตร) และ ดีมอส (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 กิโลเมตร) โดยมีวงโคจรใกล้กับดาวเคราะห์แม่ ทฤษฎีที่อธิบายว่าทั้งคู่เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกจับเอาไว้เป็นที่นิยมมายาวนาน แต่สำหรับกำเนิดที่มานั้นยังคลุมเครือ[265]
ดาวบริวารทั้งสองถูกค้นพบในปี 1877 โดยเอเสฟ ฮอลล์ ตั้งชื่อตามโฟบอส (ตระหนก/กลัว) และดีมอส (สยอง/น่าขนลุก) ซึ่งเป็นเทพในตำนานกรีก ร่วมไปกับเทพแอรีส เทพเจ้าแห่งสงครามบิดาของพวกเขา ชื่อดาวอังคารว่า “มาร์ส” นั้นคือชื่อเทพแอรีสตามแบบโรมัน[266][267] ในกรีกปัจจุบัน ดาวอังคารยังคงใช้ชื่อตามอย่างโบราณว่า Ares (Aris: Άρης)
จากพื้นผิวดาวอังคาร การเคลื่อนที่ของโฟบอสและดีมอสจะปรากฏให้เห็นแตกต่างออกไปจากดวงจันทร์ โฟบอสจะขึ้นทางทิศตะวันตก ตกทางทิศตะวันออก และกลับมาขึ้นอีกครั้งในเวลาเพียง 11 ชั่วโมง ส่วนดีมอสซึ่งอยู่นอกวงโคจรพ้องคาบพอดี ระยะคาบการโคจรของดาวจึงไม่ตรงพอดีกับคาบการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์แม่ ดาวจะไม่ลอยค้างฟ้าในตำแหน่งเดิมแต่จะขึ้นตามปกติทางทิศตะวันออกอย่างช้า ๆ แม้ดีมอสจะมีคาบการโคจรราว 30 ชั่วโมง แต่ใช้เวลาถึง 2.7 วันระหว่างการขึ้นจนตกลับฟ้าไปสำหรับผู้สังเกตที่ศูนย์สูตร ซึ่งก็จะลับไปอย่างช้า ๆ คล้อยหลังการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคาร[269]
วงโคจรของโฟบอสและดีมอส (ตามสัดส่วน)
เนื่องจากวงโคจรของโฟบอสต่ำกว่าระดับความสูงพ้องคาบ แรงไทดัลจากดาวอังคารจึงดึงวงโคจรของดาวให้ต่ำลงไปเรื่อย ๆ ทีละน้อย อีกประมาณ 50 ล้านปีข้างหน้า เป็นไปได้ว่าโฟบอสอาจพุ่งเข้าชนกับดาวอังคารหรือไม่ก็แตกสลายออกกลายเป็นโครงสร้างวงแหวนรอบดาวเคราะห์[269]
กำเนิดของดาวบริวารทั้งสองนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนัก การมีอัตราส่วนสะท้อนต่ำและมีองค์ประกอบแบบหินคอนไดรต์กลุ่มคาร์บอเนเชียสทำให้มีความคล้ายคลึงกับดาวเคราะห์น้อยซึ่งช่วยสนับสนุนทฤษฎีการจับยึด วงโคจรที่ไม่เสถียรของโฟบอสเหมือนจะชี้ให้เห็นว่าเป็นการจับเอาไว้ที่ค่อนข้างใหม่ แต่ทั้งคู่มีวงโคจรที่กลมใกล้กับศูนย์สูตรซึ่งจัดว่าไม่ปกติสำหรับวัตถุที่ถูกจับไว้ได้และยังต้องการพลวัตการยึดจับที่สลับซับซ้อน การจับตัวพอกพูนขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของประวัติศาสตร์ดาวอังคารยังเป็นกรณีที่ถือว่าเป็นไปได้ ถ้าหากว่าจะไม่นับรวมลักษณะองค์ประกอบของทั้งคู่ที่คล้ายคลึงกับดาวเคราะห์น้อยมากกว่าที่จะเหมือนกับดาวอังคารซึ่งยังต้องรอการยืนยัน
ความเป็นไปได้ในรูปแบบที่สามคือการมีวัตถุที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเป็นชนิดหนึ่งของการแตกกระจายออกมาจากการพุ่งชน[270] หลักฐานหลายประการที่ได้มาค่อนข้างใหม่พบว่าโครงสร้างภายในของโฟบอสมีความพรุนสูง[271] และชี้ว่าองค์ประกอบภายในส่วนใหญ่เป็นฟิลโลซิลิเกตและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ทราบว่ามีบนดาวอังคาร[272] ทำให้ประเด็นการกำเนิดของโฟบอสว่ามาจากเศษวัตถุที่กระจายออกมาภายหลังการถูกพุ่งชนของดาวอังคารแล้วได้มารวมกันในวงโคจรรอบดาวแม่นั้นน่าเชื่อถือมากขึ้น[273] คล้ายกันกับทฤษฎีกระแสหลักเรื่องการกำเนิดดวงจันทร์ของโลก อย่างไรก็ตาม ค่าสเปกตรัมของแสงที่มองเห็นได้ถึงช่วงใกล้อินฟราเรด (VNIR) ของดาวบริวารทั้งสองของดาวอังคารมีความคล้ายคลึงกับที่วัดได้จากแถบดาวเคราะห์น้อยด้านนอก และมีรายงานว่าสเปกตรัมรังสีอินฟราเรดของโฟบอสไม่สอดคล้องกับคอนไดรต์ไม่ว่าจะกลุ่มใด[272]
ดาวอังคารอาจจะมีดาวบริวารอื่นนอกเหนือจากนี้แต่มีขนาดเล็กด้วยเส้นผ่าศูนย์กลางราว 50 ถึง 100 เมตร และคาดว่ามีวงแหวนฝุ่นอยู่ระหว่างโฟบอสกับดีมอส
เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า กำลังขยายของกล้องโทรทรรศน์ได้เพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับที่พอจำแนกแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ บนพื้นผิวได้ การเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวอังคารเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1877 ปีนั้นเอง โจวานนี สเกียปปาเรลลี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 22 เซนติเมตรในมิลานสร้างแผนที่ดาวอังคารที่มีรายละเอียดปลีกย่อยขึ้นเป็นฉบับแรก แผนที่นี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยภูมิประเทศที่เขาเรียกชื่อว่า คานาลี ซึ่งได้รับการเปิดเผยต่อมาในภายหลังว่าเป็นเพียงภาพลวงตา รอยเส้นตรงยืดยาวบนพื้นผิวดาวอังคารที่ถูกทึกทักเรียกว่าคานาลี เหล่านี้ โจวานนีได้ตั้งชื่อให้ตามอย่างชื่อแม่น้ำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักบนโลก ศัพท์ที่เขาใช้มีความหมายว่า “ทางน้ำ” หรือ “ร่องน้ำ” ซึ่งนิยมแปลกันอย่างผิด ๆ ในภาษาอังกฤษว่า “คลอง”[240][241]
จากอิทธิพลของการสังเกตก่อนหน้า เพอร์ซิวัล โลเวลล์ นักตะวันออกศึกษาได้ตั้งหอดูดาวขึ้นโดยมีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 30 และ 45 เซนติเมตร หอดูดาวนี้ได้ใช้ในการสำรวจดาวอังคารระหว่างโอกาสอันดีที่ผ่านมาในปี 1894 ตลอดจนการเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามที่ดีลดหลั่นลงมาหลังจากนั้น เขาตีพิมพ์หนังสือหลายเล่มเรื่องดาวอังคารรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตบนนั้นซึ่งส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อสาธารณะ[242] ยังมีการพบ คานาลี โดยนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ เช่น อองรี โฌเซฟ เพร์โรแตง และหลุยส์ ตอลลง ที่เมืองนิสโดยใช้หนึ่งในกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น[243][244]
การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลอันประกอบด้วยการถอยร่นของแผ่นขั้วดาวและการเกิดพื้นที่มืดในช่วงฤดูร้อนของดาวอังคาร เมื่อประจวบเข้ากับคลองมากมายจึงนำไปสู่การคาดเดาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร และความเชื่อที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างยาวนานว่าดาวอังคารมีผืนทะเลที่กว้างใหญ่กับพืชนานาพันธุ์ กล้องโทรทรรศน์ในขณะนั้นยังไม่มีกำลังขยายถึงขั้นที่สามารถให้หลักฐานยืนยันการคาดเดาใด ๆ ได้ เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสังเกตเห็น คานาลี ตรงยาวที่ขนาดเล็กลง ระหว่างการสังเกตในปี 1909 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 84 เซนติเมตร แฟลมมาริยงสังเกตพบรูปแบบที่ไม่เป็นระเบียบแต่ไม่เห็นคานาลี [245]
แม้กระทั่งบทความในคริสต์ทศวรรษ 1960 ยังมีการตีพิมพ์เรื่องชีววิทยาบนดาวอังคารโดยผลักไสคำอธิบายแนวทางอื่นออกไป คงไว้แต่ว่าสิ่งมีชีวิตบนนั้นนั่นเองเป็นเหตุของการเปลี่ยนตามฤดูกาลบนดาวอังคาร ภาวะการณ์โดยละเอียดทั้งเมแทบอลิซึมและวัฏจักรทางเคมีต่าง ๆ สำหรับระบบนิเวศที่ดำเนินได้จริงได้รับการตีพิมพ์[246]
การเยือนโดยยานอวกาศ
ดูบทความหลักที่: การสำรวจดาวอังคาร
ครั้นยานอวกาศไปเยือนถึงดาวอังคารระหว่างปฏิบัติการมาริเนอร์ของนาซาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 70 แนวคิดเดิม ๆ ก็พินาศไปแบบไม่มีชิ้นดี นอกจากนี้ผลการทดลองตรวจหาสิ่งมีชีวิตโดยยานไวกิงในระหว่างปฏิบัติภารกิจ ทำให้สมมติฐานดาวเคราะห์มรณะที่ไม่น่าอยู่อย่างยิ่งก็ได้มาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย[247]

