
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำ
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำมีจุดกระจายอยู่ใกล้ดาวอีตา (η) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เกิดจากดาวหางแฮลลีย์ (1P/Halley) มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 5-7 พฤษภาคม ที่ 50 ดวงต่อชั่วโมง (แปรผันได้ระหว่าง 40-85) การสังเกตการณ์ในอดีตพบว่าอัตราตกสูงสุดแปรผันเป็นคาบประมาณ 12 ปี ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี
ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกกลุ่มนี้ค่อนข้างกว้าง ช่วงที่ตกในระดับเกิน 30 ดวง/ชั่วโมง ครอบคลุมหลายวัน โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3-10 พฤษภาคม จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาตี 2 เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วงตี 4 – ตี 5 ของเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 6 และศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 แต่ปีนี้มีแสงจันทร์เสี้ยวรบกวน ในหนึ่งชั่วโมงนี้อาจนับได้ราว 25 ดวง
ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ (Southern Delta-Aquariids : SDA)
ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 29-30 กรกฎาคม ของทุกปี โดยอยู่ที่ประมาณ 25 ดวง/ชั่วโมง ดาวตกจากฝนดาวตกกลุ่มนี้มีความสว่างน้อยเมื่อเทียบกับฝนดาวตกกลุ่มหลักกลุ่มอื่น ๆ ปีนี้สังเกตได้ดีที่สุดในคืนวันศุกร์ที่ 30 ถึงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2564 จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าราว 3 ทุ่ม หากท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆฝนรบกวน น่าจะเห็นดาวตกในอัตราประมาณ 15 ดวง/ชั่วโมง ใกล้เที่ยงคืน ดวงจันทร์จะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้า ทำให้มีแสงจันทร์รบกวนไปจนถึงเช้ามืด
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส (Perseids : PER)
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสหรือฝนดาวตกวันแม่ เป็นฝนดาวตกที่มีชื่อเสียงในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในละติจูดสูงทางเหนือ ซึ่งจุดกระจายดาวตกจะขึ้นไปอยู่สูงเกือบกลางฟ้าในเวลาเช้ามืด อัตราการเกิดดาวตกสูงถึงกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง และเกิดในฤดูร้อนซึ่งท้องฟ้าโปร่ง สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดฝนดาวตกมาจากดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) ซึ่งมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ยาวนาน 130 ปี ช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1992 ทำให้ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีอัตราสูงตลอดช่วงทศวรรษ 1990 และต่อเนื่องมาถึง ค.ศ. 2016
ปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับการสังเกตฝนดาวตกเพอร์ซิอัส เนื่องเป็นคืนเดือนมืด องค์การดาวตกสากลคาดหมายว่าเวลาที่โลกเคลื่อนผ่านจุดที่หนาแน่นที่สุดของธารสะเก็ดดาวตรงกับวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลา 2 – 5 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยมีอัตราตกที่จุดจอมฟ้า ณ จุดสูงสุดราว 110 ดวง/ชั่วโมง (อัตราตกเมื่อจุดกระจายอยู่เหนือศีรษะและท้องฟ้ามืดจนมองเห็นดาวได้ถึงโชติมาตร 6.5) สำหรับประเทศไทย หากไม่มีเมฆฝนรบกวนคาดว่าน่าจะเห็นดาวตกในอัตราสูงระหว่างเวลา 2 – 4 น. โดยอยู่ที่ประมาณ 75 ดวง/ชั่วโมง สาเหตุที่มีอัตราต่ำกว่าค่าสูงสุด เนื่องจากจุดกระจายไม่ได้อยู่ที่จุดเหนือศีรษะ แต่ต่ำลงไปทางทิศเหนือ หากสังเกตในคืนก่อนหน้าและคืนหลังจากนั้น อัตราตกสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกันจะอยู่ที่ 40-50 ดวง/ชั่วโมง
ฝนดาวตกนายพราน (Orionids : ORI)
ฝนดาวตกนายพรานเป็นฝนดาวตกอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากดาวหางแฮลลีย์ จุดกระจายฝนดาวตกอยู่ไม่ไกลจากดาวเบเทลจุส ซึ่งเป็นดาวสว่างสีส้ม ส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมฤดูหนาว มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 20-21 ตุลาคม ของทุกปี ที่ประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง หรือมากกว่า โดยช่วง พ.ศ. 2549 – 2552 อัตราตกได้เพิ่มสูงไปอยู่ที่ 40-70 ดวงต่อชั่วโมง ติดต่อกัน 2-3 วัน คาดว่าอัตราตกอาจแปรผันด้วยคาบ 12 ปี ตามแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี ซึ่งหากสมมุติฐานนี้เป็นจริง ช่วง พ.ศ. 2563-2565 อาจมีอัตราตกสูงเป็นพิเศษได้
สำหรับประเทศไทยคาดว่าปีนี้ฝนดาวตกนายพรานจะมีอัตราสูงสุดในคืนวันอังคารที่ 19 และวันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลา 4 ทุ่มครึ่ง เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วงตี 3 – ตี 5 ของวันถัดไป แต่แสงจันทร์สว่างทำให้อาจมีอัตราต่ำราว 10 ดวง/ชั่วโมง
ฝนดาวตกสิงโต (Leonids : LEO)
ฝนดาวตกสิงโตมีอัตราตกสูงสุดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยทั่วไปอยู่ที่ราว 15 ดวงต่อชั่วโมง สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดฝนดาวตกกลุ่มนี้มาจากดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) ซึ่งมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 33 ปี ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกสิงโตมีหลายสาย ทำให้บางปีมีอัตราสูงมากนับร้อยหรือนับพันดวงต่อชั่วโมง อย่างที่เคยสังเกตได้ล่าสุดเมื่อช่วง พ.ศ. 2541-2545 ปีนี้โลกไม่ได้เคลื่อนผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวที่หนาแน่น จึงมีอัตราต่ำมาก
จุดกระจายของฝนดาวตกสิงโตอยู่บริเวณหัวของสิงโต หรือที่เรียกว่าเคียวของสิงโต (Sickle of Leo) ตามลักษณะดาวที่เรียงกันเป็นวงโค้ง จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืนครึ่ง ช่วงที่สังเกตได้ดีที่สุด คือหลังจากดวงจันทร์ตกแล้ว ตรงกับเวลาตี 4 ถึงก่อนฟ้าสางของเช้ามืดวันพุธที่ 17 และพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564 โดยคาดว่าจะตกด้วยอัตราประมาณ 15 ดวง/ชั่วโมง
ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids : GEM)
ฝนดาวตกคนคู่เป็นฝนดาวตกที่เด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในรอบปี ปีก่อน ๆ คาดหมายว่ามีอัตราตกสูงสุดราว 120 ดวงต่อชั่วโมง มักตกสูงสุดประมาณวันที่ 13-15 ธันวาคม ของทุกปี ดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) เป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกกลุ่มนี้ จุดกระจายของฝนดาวตกคนคู่อยู่ใกล้ดาวคาสเตอร์ ซึ่งเป็นดาวสว่างที่สุดดวงหนึ่งของกลุ่มดาวนี้
สำหรับประเทศไทย ปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างดีสำหรับการสังเกตฝนดาวตกคนคู่ คาดว่ามีโอกาสเห็นได้มากที่สุดในคืนวันจันทร์ที่ 13 ถึงเช้ามืดวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 แต่จะมีแสงจันทร์รบกวนจนถึงเวลาประมาณตี 2
ดาวคาสเตอร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม จึงเริ่มเห็นดาวตกจากฝนดาวตกคนคู่ได้ในช่วงนี้ แต่ยังมีอัตราต่ำมากในช่วงแรก หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ถี่มากขึ้น ควรรอให้ดวงจันทร์ตกไปก่อนจึงเริ่มสังเกต คาดว่าช่วงที่สังเกตได้ดีที่สุดอยู่ระหว่าง 02:00-06:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม ในกรณีที่สังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืด ห่างจากเมืองใหญ่ และท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆบัง อาจนับได้มากกว่า 70 ดวง/ชั่วโมง อัตราตกน่าจะสูงสุดในช่วง 02:00-04:00 โดยอยู่ที่ 90 ดวง/ชั่วโมง หลังจากนั้นจะลดลง หากสังเกตก่อนหรือหลังจากนี้หนึ่งวัน (ช่วงก่อนเช้ามืดวันที่ 13 หรือ 15 ธันวาคม) คาดว่าอัตราตก ณ จุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 30-50 ดวง/ชั่วโมง
อภิธานศัพท์
สะเก็ดดาว – meteoroid
วัตถุจำพวกหินแข็งในอวกาศที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์น้อย อาจมีขนาดตั้งแต่เม็ดทรายจนใหญ่เท่าโอ่งน้ำ
ระบบสุริยะ – solar system
ระบบของวัตถุที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ โดยมีวัตถุอื่นโคจรรอบดาวฤกษ์นั้น เช่น ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง

