
ดาวเคราะห์น้อย
หลังจากที่มีการค้นพบยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 7 ของระบบสุริยะ ก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเล็กชื่อ “ซีรีส” (Ceres) ในปี พ.ศ.2344 และต่อจากนั้นอีกไม่นานก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์แบบนี้อีก 4 ดวงคือ พัลลาส จูโน เวสตา แอสเตรีย จนกระทั่งได้มีการค้นพบดาวเนปจูนในปี พ.ศ.2389 จึงปรับลดสถานะของดาวเคราะห์ขนาดเล็กทั้งห้าดวงเรียกว่า “ดาวเคราะห์น้อย” (Minor planets)
ต่อมาเมื่อมีการพัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากบริเวณระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี และเมื่อนักดาราศาสตร์ทราบว่า ดาวเคราะห์น้อยเป็นเพียงวัสดุที่พยายามจะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์แต่ไม่สำเร็จจึงเรียกพวกมันว่า “Asteroids” (ภาษาไทยยังคงเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยเหมือนเดิม) และเรียกบริเวณที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ว่า แถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid belt)
ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีรูปทรงไม่สมมาตรไม่เป็นทรงกลม มีขนาดตั้งแต่ 1 – 1,000 กิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อยมีมวลน้อยจึงมีแรงโน้มถ่วงน้อยไม่สามารถเอาชนะแรงยึดเหนี่ยวระหว่างสสารที่เป็นเนื้อดาว จึงไม่มีรูปร่างเป็นทรงกลม (ยกเว้นดาวซีรีสซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีมวลมากพอที่แรงโน้มถ่วงจะยุบดาวให้เป็นทรงกลม จึงถูกยกสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ) ดาวเคราะห์น้อยเปรียบเสมือนฟอสซิลของระบบสุริยะ เพราะว่าพวกมันคือวัสดุที่พยายามจะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากถูกรบกวนโดยแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสบดีซึ่งมีวงโคจรอยู่ใกล้เคียง สภาพของมันจึงไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้นมา นักดาราศาสตร์ทำการศึกษาดาวเคราะห์น้อยเพื่อศึกษาวิวัฒนาการของระบบสุริยะ โดยจำแนกดาวเคราะห์น้อยออกเป็น 3 แบบ ตามองค์ประกอบทางเคมี ดังนี้
C-type (Common) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่พบเห็นประมาณร้อยละ 75 มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอน มีสีเข้มเพราะพื้นผิวสะท้อนแสงได้ไม่ดี
S-type (Stone) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 17 มีองค์ประกอบหลักเป็นหินซิลิเกตมีเหล็กและนิเกิลปนอยู่เล็กน้อย
M-type (Metal) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่สว่างมาก เนื่องจากมีองค์ประกอบเป็นโลหะเหล็กและนิเกิล สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี
ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีวงโคจรที่ไม่อยู่ในระนาบสุริยวิถี และอยู่ห่างจากโลกไม่เกิน 195 ล้านกิโลเมตร พวกมันมีโอกาสที่จะโคจรมาชนโลกได้ นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลกซึ่งเรียกว่า “นีโอ” (NEO: Near Earth Objects)
คำอธิบายภาพข้างบน
- เอรอส ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้โลก
- ดาวเคราะห์น้อยแดคทีลและดวงจันทร์ไอดา
- เทคนิคภาพสีแสดงหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ (วงแหวนสีน้ำเงิน) บนดาวเคราะห์น้อยเวสตา
- ภาพดาวเคราะห์น้อยกอเลฟกาซึ่งสร้างจากข้อมูลเรดาร์
- ซีรีส ดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุด (ปัจจุบันถูกเลื่อนสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ)
- ดาวเคราะห์น้อยเวสตา
- หลุมอุกกาบาตบนดาวเคราะห์น้อยเอรอส
ดาวเคราะห์น้อยเป็นก้อนหินก้อนใหญ่หลายก้อนที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งพวกมันมีขนาดเล็กเกินที่จะเรียกว่า “ดาวเคราะห์” ได้
จนถึงปัจจุบันนี้ ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยแล้วหลายแสนดวง ซึ่งในจำนวนนี้ มีดาวเคราะห์น้อยประมาณ 20,000 ดวงที่ได้รับการตั้งชื่อและรหัสกำกับแล้ว “พัลลัส” (Pallas) หนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 550 กิโลเมตร ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่เล็กที่สุดเท่าที่เรารู้จักนั้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวไม่กี่สิบกิโลเมตร แต่นักดาราศาสตร์คาดว่าน่าจะมีดาวเคราะห์น้อยที่เล็กกว่าอีกนับหลายล้านดวง
ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่ถูกค้นพบใน “แถบดาวเคราะห์น้อย” (Asteroid belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์น้อยบางดวงมีวงโคจรซ้อนทับกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี แต่พวกมันไม่ชนกับดาวพฤหัสบดี เรียกดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้เรียกว่า “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” (Trojan asteroids) ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยกลุ่มที่มีวงโคจรผ่านเข้าใกล้โลกมาก จะเรียกว่า “วัตถุใกล้โลก” (Near-Earth Objects หรือ NEOs)
หากคุณสามารถนำดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดมารวมเข้าเป็นดาวดวงเดียว จะพบว่าวัตถุที่ได้นั้นมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกมาก
ดาวเคราะห์น้อยทรอย เป็นดาวเคราะห์น้อยกลุ่มพิเศษ มีวงโคจรร่วมกับดาวเคราะห์ แต่เกาะกลุ่มอยู่นำหน้าและตามหลังดาวเคราะห์อยู่ 60 องศา
วงโคจรเช่นนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากบริเวณรอบระบบทวิวัตถุมีบางจุดที่เกิดสมดุลระหว่างความโน้มถ่วงจากวัตถุทั้งสอง เรียกว่าจุดลากรันจ์ ระบบโลก-ดวงจันทร์ ก็มีจุดลากรันจ์ 5 จุด ระบบโลก-ดวงอาทิตย์ ก็มีจุดลากรันจ์ 5 จุดเหมือนกัน
นักวิทยาศาสตร์ใช้ประโยชน์จากจุดลากรันจ์มาก ยานอวกาศหรือดาวเทียมบางดวงก็อาศัยจุดลากรันจ์เหล่านี้เป็นที่ตำแหน่งถาวรในการสำรวจอวกาศ เช่นดาวเทียมโซโฮ อยู่ที่ตำแหน่งแอล 1 ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ก็อยู่ที่ตำแหน่งแอล 2 ของระบบโลก-ดวงอาทิตย์
ดาวเคราะห์น้อยทรอยส่วนใหญ่อยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ถึงปัจจุบันพบไม่ต่ำกว่า 9,000 ดวงแล้ว ดาวเคราะห์ดวงอื่นก็มีดาวเคราะห์น้อยทรอยเป็นของตัวเองเหมือนกัน ดาวเนปจูนมี 28 ดวง ดาวอังคารมี 9 ดวง ส่วนดาวยูเรนัสกับโลกมีแค่ดวงละหนึ่งเท่านั้น
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อยทรอยดวงที่สองของโลกแล้ว
ดาวเคราะห์น้อยทรอยดวงแรกที่พบมีชื่อว่า 2010 ทีเค 7 มีขนาด 300 เมตร อยู่ที่จุด แอล 4 ส่วนดาวเคราะห์น้อยทรอยของโลกที่เพิ่งพบ มีชื่อว่า 2020 เอ็กซ์แอล 5 ถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2563 อยู่ที่จุดแอล 4 เหมือนกัน โคจรรอบจุดแอล 4 ด้วยวงที่กว้างมาก จุดไกลสุดดวงอาทิตย์เกือบถึงวงโคจรของดาวอังคาร ส่วนจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดถึงกับตัดกับวงโคจรของดาวศุกร์

